ภาวะเลือดออกในสมอง
ภาวะเลือดออกในสมอง (Brian Bleeds / Intracerebral Hemorrhage) คือภาวะที่เส้นเลือดในสมองแตกทำให้มีเลือดไหลออกไปในเนื้อเยื่อสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากสาเหตุโดยการเกิดอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ และที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ โดยภาวะเลือดออกในสมองมีความอันตรายถึงชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์อย่างเร่งด่วนหากพบว่ามีอาการป่วยด้วยภาวะดังกล่าว
สาเหตุการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง
- เกิดจากการกระทบกระเทือนเนื่องจากอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น การกระแทก
- เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่นโรคประจำตัว พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปและมีโอกาสพบอาการได้มากกว่าสาเหตุแรก ดังนี้
– อายุมากกว่า 40 ขึ้นไป
– สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
– โรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
– เนื้องอกในสมองบางชนิด
– มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ หรือมีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจ
– มีลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นในสมองที่อาจเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดสมองเอง หรือจากส่วนอื่นในร่างกายก่อให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือดที่สมอง ทำให้หลอดเลือดแดงไม่ได้ความเสียหายและอาจทำให้มีเลือดออกตามมา
อาการของภาวะเลือดออกในสมอง
- แขนขาข้างใดข้างหนึ่งมีอาการอ่อนแรง
- ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน ตาไม่สู้แสง
- มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจถึงขั้นมีอาการปวดหัวรุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Thunderclap) ซึ่งเป็นอาการของภาวะเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง
- คอแข็งเกร็ง หายใจลำบาก รู้สึกมีการกลืนได้ลำบาก
- มีภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร (Aphasia) พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ชัด มีอาการลิ้นแข็ง ไม่สามารถเขียน อ่าน หรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้
- หากมีอาการรุนแรง อาจมีการชักเกร็ง ซึม หมดสติ รวมถึงอาจมีภาวะหยุดหายใจและถึงขั้นเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมอง
การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในสมองสามารถประเมินภาวะของโรคได้จากการซักประวัติเบื้องต้น รวมถึงอาการที่พบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนแรง หมดสติ ชักเกร็ง นอกจากนี้แพทย์มักจะตรวจด้วยเทคโนโลยีการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อประเมินอาการ รวมถึงความเสียหายในสมองว่าอาการที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กันหรือไม่ ดังนี้
- การตรวจด้วยเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือ การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อระบุตำแหน่งและขนาดของบริเวณที่มีเลือดออกหรือบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและแยกโรค เพื่อเป็นแนวทางการหาสาเหตุของโรคต่อไป
- การตรวจ MRA Brain เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองและเนื้อสมอง
- การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC การแข็งตัวของเลือด ระบบภูมิคุ้นกัน การอักเสบ และการเกิดลิ่มเลือด รวมถึงบางกรณีอาจจำเป้นต้องเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อยืนยันภาวะเลือดออกในสมอง
ข้อมูลอ้างอิง:
โรงพยาบาลนครธน “โรคเลือดออกในสมอง ภาวะที่อันตรายและร้ายแรง” (2566) [ระบบออนไลน์].
https://www.nakornthon.com/article/detail/โรคเลือดออกในสมอง-ภาวะที่อันตรายและร้ายแรง
MedPark Hospital “เลือดออกในสมอง” (2566) [ระบบออนไลน์].
https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/intracerebral-hemorrhage#:~:text=%เลือดออกในสมอง